Monday 9 November 2009

กราฟิกสภาพแวดล้อม (Environmental Graphics)

คำอธิบายโดย  Akapan Thienthaworn

2072402  กราฟิกสำหรับสภาพแวดล้อม  3(2-2-5)
Environmental Graphic Design

เป็นการประยุกต์ใช้หลักการออกแบบกราฟิกสำหรับพื้นที่สภาพแวดล้อมภายในและภายนอก การใช้องค์ประกอบการออกแบบกราฟิก การกำหนดตำแหน่งและทิศทาง การตกแต่ง การใช้วัสดุ ขั้นตอนการติดตั้งและเทคนิคการผลิต รวมทั้งฝึกปฏิบัติการแก้ปัญหาโดยการออกแบบตราสัญลักษณ์ การใช้ตัวอักษร และระบบป้ายสัญลักษณ์

Study the application of graphic design principles in both interior and exterior space. Students are introduced to the elements of graphic design, position and direction, decorating, using various materials, installation process and production techniques. Learning activities include problem-solving by designing a logo, typography and signage system. (Thienthaworn, 2007, p. 56)

ในการทำงานออกแบบกราฟิกสภาพแวดล้อมนั้น มีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก รวมถึงมีปัญหาที่หลากหลายและละเอียดอ่อน ซึ่งต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ในการออกแบบด้านอื่นๆร่วมด้วย ซึ่งการออกแบบกราฟิกสภาพแวดล้อม เป็นสาขาวิชาที่มีการบูรณาการณ์ของศาสตร์ด้านการออกแบบสาขาต่างๆ ประกอบไปด้วย การออกแบบกราฟิก สถาปัตยกรรม รวมถึงการออกแบบตกแต่งภายใน และการออกแบบอุตสาหกรรม ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีหลักสูตรหรือสาขาวิชาใดที่มีการศึกษาด้านนี้โดยตรง แม้ว่าจะมีรายวิชาที่มีการศึกษาด้านนี้ หรืออาจจะเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของรายวิชาอย่างเช่นการออกแบบเอกลักษณ์องค์กร

จากเหตุผลที่ว่าในปัจจุบันยังมีหลักสูตรการศึกษาด้านการออกแบบกราฟิกสภาพแวดล้อมอยู่จำนวนน้อย และเป็นสาขาวิชาที่จำเป็นต้องใช้ความรู้ในศาสตร์หลายแขนง ดังนั้นผู้ที่กำลังศึกษาในด้านนี้หรือนักออกแบบในสาขาวิชาอื่นจำเป็นต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง ยกตัวอย่างเช่น นักออกแบบกราฟิกจำเป็นต้องเรียนรู้ในเรื่องของวัสดุและรูปทรงสามมิติ การกำหนดขนาด การอ่านแบบ รวมทั้งการเขียนแบบเบื้องต้น ในส่วนของสถาปนิก นักออกแบบตกแต่งภายใน หรือนักออกแบบอุตสาหกรรมนั้นจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการและเทคนิคการสื่อสารด้วยกราฟิก หลักการออกแบบสองมิติ รวมทั้งเทคนิคและวิธีการใช้โปรแกรมกราฟิกด้วย (Thienthaworn, 2009, pp. 16-17)

โดยในสถานการณ์ของโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการสื่อสารที่ไร้ขีดจำกัด ที่จะส่งอิทธิพลต่อนักออกแบบรุ่นใหม่ให้ต้องปรับรูปแบบการทำงานให้ทันต่อยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อความอยู่รอดในสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเศรษฐกิจและธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งในการเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 นี้อาจจะกลายเป็นยุคเฟื่องฟูของการออกแบบกราฟิกสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยบริษัทออกแบบที่มีศักยภาพหลายแห่งเปิดตัวขึ้นใหม่ในแต่ละปี ซึ่งอาจจะมากกว่าจำนวนโครงการออกแบบที่มีอยู่ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าการทำงานในสาขาวิชานี้จะมีการแข่งขันกันสูง

แต่ละบริษัทออกแบบจะต้องสร้างผลงานให้โดดเด่นกว่าคู่แข่งด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา นักออกแบบก็จะต้องคอยดูแลเอาใจใส่ลูกค้าให้มากขึ้น หัวหน้างานก็จะต้องมีข้อเสนอที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดและรักษาทีมงานที่มีประสิทธิภาพไว้ แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการทำงานที่เกิดขึ้นในสาขาวิชาชีพนี้ ซึ่งเป็นวิชาชีพที่มีความหลากหลายโดยจะเหมาะกับผู้ที่มีความคิดและมุมมองที่สร้างสรรค์ แสวงหาความรู้และประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ รวมทั้งจะต้องมีความสามารถในการติดต่อสื่อสารด้วย (Gibson, 2009, p. 16)

United Buddy Bears Exhibition, Roppongi Hills, Tokyo, Japan.

เอกสารอ้างอิง:
Gibson, D. (2009). The wayfinding handbook: information design for public places. New York : Princeton Architectural.
Thienthaworn, A. (2009). Environmental graphic design. n.p.
---------------------. (2007). Event & exhibition design curriculum: course description. n.p.

Monday 21 September 2009

Pecha Kucha* (ペチャクチャ)

*Pecha Kucha เพะชะคุชะ เป็นคำจำลองเสียงพูดคุย (chit-chat) ของชาวญี่ปุ่น ส่วน เพะชะคุชะไนท์ (Pecha Kucha Night) คือค่ำคืนที่ผู้คนจากสารพัดวงการพกพาไอเดียสร้างสรรค์ของตนมาบอกเล่าสู่กัน ฟังอย่างสนุกสนาน ในบรรยากาศแบบปาร์ตี้ ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างคนดังกับโนเนม, มืออาชีพกับมือสมัครเล่น, ผู้ใหญ่กับเด็ก, อาจารย์กับศิษย์, รุ่นเก๋ากับรุ่นใหม่แกะกล่อง ฯลฯ

เป็นงานที่มีแนวคิดเป็นเอกลักษณ์ (ซึ่งผ่านการทดสอบมาแล้วว่าเวิร์ค)
คือ “20x20” อันหมายถึง + การพรีเซนต์ไอเดียจะเริ่มต้นเวลา 20.20 นาฬิกา + มีผู้ขึ้นโชว์ไอเดียบนเวที 20 คน + แต่ละคน จะโชว์ไอเดียผ่านภาพสไลด์ 20 ภาพ + แต่ละภาพ มีเวลาปรากฏตัวบนจอ (โดยเจ้าของไอเดียยืนอธิบายประกอบไปด้วย) ภาพละ 20 วินาที + รวมเวลาเล่าไอเดียของแต่ละคนคือ 6 นาที 40 วินาที เมื่อครบเวลาแล้ว คนต่อไปจะขึ้นมาเล่าผลงานของตนต่อทันที + ผลงานที่ว่านี้จะเป็นอะไรก็ได้ที่สร้างสรรค์และเป็นงานของตัวคุณเอง เช่น “20 งานออกแบบลายผ้าที่คุณภูมิใจแต่ยังไม่เคยโชว์ใครมาก่อน”, “20 ภาพถ่ายคลื่นทะเลในมุมที่คุณคิดขึ้นเอง”, “20 งานศิลปะที่เคยไปโชว์ต่างประเทศแต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้โชว์ในประเทศไทย”, “20 วิธีที่คุณคิดว่าจะช่วยให้คนไทยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะอย่างมีความสุขมากขึ้น”, “20 ขั้นตอนกว่าจะได้มาซึ่งหนังทดลองเรื่องนี้”, “20 โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่คุณทดลองคิด”, “20 ดีไซน์เก้าอี้ที่คุณสร้างสรรค์ขึ้นและสุดภูมิใจ”, “20 สิ่งประดิษฐ์ที่คุณคิดค้นไว้แต่ยังไม่มีโอกาสพัฒนาให้เป็นของจริง”, “20 ภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์ที่เป็นประสบการณ์เฉพาะตัว”, ฯลฯ โดยไม่จำกัดด้วยว่าจะต้องเป็นงานในแนวทางเดียวกับวิชาชีพตามปกติของคุณ

Pecha Kucha Nights: Guide to Better Presentations Skills
โดย Paul Baron
เรียบเรียงโดย Akapan Thienthaworn

เตรียมตัวให้พร้อม + หัวข้อ / เลือกผลงานที่เคยทำมานำเสนอ แต่อาจไม่จำเป็น บางครั้งผู้ฟังจะสนใจเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากงานที่คุณทำ เช่น รูปถ่ายธรรมดาๆ แต่สามารถนำเสนอได้อย่างจับใจ + เล่าเรื่อง / แม้ว่าการนำเสนอผลงานประกอบคำบรรยายภาพจะดูราบรื่น แต่ไม่ควรอธิบายเพียงสิ่งที่อยู่บนจอภาพ ควรพูดถึงที่มาของกระบวนการคิด ปัญหาข้อผิดพลาด และความสำเร็จ เพื่อให้ผู้ฟังสนใจทั้งงานของคุณและตัวคุณด้วย + ให้เวลาเตรียมตัว / การนำเสนอต้องใช้เวลาเตรียมตัวสิ่งต่างๆอันได้แก่ เลือกหัวข้อ จัดทำสื่อและจัดหาอุปกรณ์ เขียนบทพูด รวมทั้งฝึกจังหวะและความเร็วในการพูด ควรใช้เวลาเตรียมตัวอย่างน้อย 2-3 วัน
วันซ้อม + ฝึกซ้อม / เมื่อทำสื่อเพื่อการนำเสนอเสร็จ ไม่ได้หมายความว่าคุณนั้นพร้อมที่จะนำเสนอ ดังนั้นจงซ้อมจนกระทั่งสามารถควบคุมจังหวะเและวลาได้และไม่รู้สึกเกร็ง - ลองหาหนูทดลองมาฟังคุณซ้อม อาจชวนเพื่อนหรือคนที่ไม่รู้จักมาฟังจะดีมาก - ยืนพูด - ให้ความสำคัญกับลักษณะท่าทางและเสียงพูดของคุณ ดูว่ายังพูดตะกุกตะกัก เกร็ง หรือน่าเบื่อหรือไม่? - ลองจินตนาการว่าอยู่ท่ามกลางผู้ฟังทั้งหลาย ดูว่าคุณรู้สึกสนุกกับการนำเสนอหรือยัง? ถ้ายัง ให้หาวิธีทำอะไรก็ตามให้งานของคุณทำให้คุณตื่นเต้นได้
วันจริง + พูดทักทาย / กล่าว "สวัสดี" แนะนำตนเอง คุณเป็นใคร มาจากไหน จะนำเสนออะไร สั้นๆ + พูดคุย - Pecha Kucha เพะชะคุชะ หมายถึงเสียงพูดคุย (chit-chat) ในภาษาญี่ปุ่น ดังนั้นทุกๆภาพบนหน้าจอจำเป็นต้องมีคำอธิบาย อย่าหยุดนิ่งเงียบ ผู้ฟังตั้งใจมาฟังคุณ ไม่ได้จะจ้องดูแต่หน้าจอ - พูดดังๆ! ถ้ามีคนฟังหลับ พวกเขาก็จะตื่น ยกเว้นว่าจะมีเสียงบอกให้เบาๆหน่อย - พูดใส่ไมค์ เมื่อคุณเคลื่อนที่ไปมา ไมค์ก็จะตามคุณไป แต่เวลาคุณหันไปอธิบายงาน ไมค์ไม่ได้หันตามคุณ ผู้ฟังจะไม่ได้ยินคุณ - พักหายใจบ้าง ผู้ฟังจำเป็นต้องทำความเข้าใจงานคุณ อย่าพูดเร็วเกินไป เว้นวรรคตอนบ้าง - พูดโดยใช้ภาษาให้ถูกต้องและชัดเจน - ควบคุมการพูดให้ตรงตามภาพ แต่ถ้าพูดไม่ทันหรือรู้สึกอึดอัดเกินไป ควรพักและเริ่มภาพต่อไป + ภาษากาย / ใช้วิธีสนทนากับผู้ฟัง ไม่ใช่ก้มคุยกับรองเท้า ไม่ใช่เงยหน้าคุยกับจอภาพหรือผนัง ไม่ใช่ก้มหน้าดูบท หรือพูดกับผู้ฟังแถวหน้า ยิ้มเข้าไว้ สบตา คุยกับทุกๆคน + อดทน / การบรรยาย 1 ภาพอาจดูสั้น แต่รวมทุกภาพอาจดูนาน น่าเบื่อ ดังนั้นควรให้ความสนใจในทุกๆภาพ + พูดปิดท้าย - กล่าว "ขอบคุณ" - ให้ข้อมูลเพิ่มเติม - สุดท้ายพูดอะไรก็ได้ให้ผู้ฟังประทับใจ

คุณสมบัติของผู้นำเสนอที่ดี
โดย สมิต สัชฌุกร

คุณสมบัติอันเป็นลักษณะประจำตัวของผู้นำเสนอ ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการนำเสนอ เพราะคุณสมบัติของผู้นำเสนอจะมีอิทธิพลต่อการโน้นน้าวชักจูงให้เกิดความสนใจ ความไว้วางใจ เชื่อถือ และการยอมรับได้มาก เท่ากับหรือมากกว่าเนื้อหาที่นำเสนอ ผู้นำเสนอที่ประสพความสำเร็จส่วนใหญ่ จะมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 1. มีบุคลิกดี 2. มีความรู้อย่างถ่องแท้ 3. มีความน่าเชื่อถือไว้วางใจ 4. มีความเชื่อมั่นในตนเอง 5. มีภาพลักษณ์ที่ดี 6. มีน้ำเสียงชัดเจน 7. มีจิตวิทยาโน้นน้าวใจ 8. มีความสามารถในการใช้โสตทัศนอุปกรณ์ 9. มีความช่างสังเกต 10. มีไหวพริบปฏิภาณในการคำถามดี

ข้อมูลเพิ่มเติม:
http://en.wikipedia.org/wiki/Pecha_Kucha
http://thunska.exteen.com/20061119/pecha-kucha-night-in-bangkok
http://molecularck.com/category/hot-tags/pecha-kucha-night
http://1812.exteen.com/20061120/pecha-kucha-bangkok-vol-1
http://www.tcdc.or.th/downloads/Pecha-Kucha.pdf
http://www.aqworks.com/2007/07/03/pecha-kucha-nights-guide-to-better-presentations-skills
http://www.tpa.or.th/writer

Monday 7 September 2009

I am a Thai Graphic Designer™

โครงการ “ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย (I am a Thai Graphic Designer)” เป็นโครงการที่ต้องการรวบรวมภาพถ่ายนักออกแบบกราฟิกไทยทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและทำงานหรือศึกษาต่ออยู่ที่ต่างประเทศให้มากที่สุด โดยภาพถ่ายเหล่านั้นจะเป็นภาพถ่ายของนักออกแบบแต่ละคนที่ถือแผ่นกระดาษ A3 ที่มีผลงานออกแบบตัวอักษรคำว่า “ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย” หรือ “I am a Thai Graphic Designer” โดยรูปแบบของผลงานนั้นขึ้นอยู่กับความคิดของนักออกแบบเจ้าของงาน ซึ่งเป็นโครงการที่นำเสนอตัวตนและการมีอยู่ของนักออกแบบกราฟิกไทยและสื่อสารออกไปว่าวิชาชีพนี้มีสังคมที่แข็งแรง และพร้อมที่จะเปล่งเสียงออกมาให้สังคมรวมได้รับรู้ถึงความพร้อมของเครือข่ายนักออกแบบกราฟิกด้วยกันเอง ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาชีพเพื่อเป็นกำลังสำคัญหนึ่งของสังคมต่อไป

“กราฟิกดีไซน์ คืออะไร?” และ “นักออกแบบกราฟิกคือใคร?”ปัจจุบันมีนักออกแบบกราฟิกมากมายในสังคม กระจายอยู่ในองค์กร กลุ่ม สถาบันหรือทำงานตามลำพัง รวมไปถึงทัศนคติทางการออกแบบ รูปแบบการทำงาน สื่อที่ใช้ล้วนแล้วแต่มีความหลากหลายอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางโครงการสนใจที่จะรวบรวมมุมมองหรือนิยาม (ที่มีเสรีภาพและปราศจากการตัดสินคุณภาพ) จากคำถามกว้างๆ เพื่อเป็นการรวบรวมและสะท้อนให้เห็นความหลากหลายนั้น อันจะก่อให้เกิดการร่วมกันมองเห็นภาพรวมของวิชาชีพนี้ได้ชัดเจนขึ้น

ที่มา: (http://www.iamathaigraphicdesigner.com/)

ขอเชิญชวนให้นักศึกษาร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “กราฟิกดีไซน์ คืออะไร?” และ “นักออกแบบกราฟิกคือใคร?”

Monday 1 June 2009

จรรยาบรรณสำหรับนักออกแบบ (Ethics for Designer)

คำอธิบายโดย Akapan Thienthaworn

2071102  บุคลิกภาพและจรรยาบรรณสำหรับนักออกแบบ  3(3-0-6)
Personality and Ethics for Designer

ศึกษาความหมายของคำว่าบุคลิกภาพ ขอบเขตและหน้าที่รวมทั้งจริยธรรมสำหรับนักออกแบบ องค์ประกอบที่ทำให้มนุษย์มีบุคลิกภาพที่ต่างกัน การพัฒนาบุคลิกภาพส่วนบุคคลและบุคลิกภาพทางสังคม เช่น การแต่งตัว การใช้ภาษาพูดและท่าทาง มารยาทและการเข้าสังคม การเป็นผู้นำ เพื่อใช้ในวิชาชีพการออกแบบ

Study the meaning of personality, extent and duty include the ethical behavior for designer, basic element of human personality, development of individual and social personality such as dressing up, speech and body language, manners and socialization, leadership for design profession. (Thienthaworn, 2007, p. 50)

สมรรถนะและคุณสมบัติที่ดีของนักออกแบบงานแสดงและนิทรรศการ สามารถแบ่งได้เป็น 5 ด้านดังต่อไปนี้ (Thienthaworn, 2007, p. 128)
  1. ทักษะการออกแบบจัดแสดงนิทรรศการ
    มีความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติในการออกแบบงานนิทรรศการ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและสามารถประยุกต์ใช้กับนิทรรศการขนาดใหญ่ได้ และสามารถสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบ จัดแสดงนิทรรศการจริงอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
  2. ความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ
    มีความคิด ในการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบการจัดแสดงและนิทรรศการที่มีรูปแบบที่แปลกใหม่ วิเคราะห์ และหาแนวทางในการออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของงาน อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  3. นำเสนอผลงานการออกแบบ
    การใช้คำพูด ท่าทาง อารมณ์ สื่อนำเสนอ อุปกรณ์ และการสร้างบรรยากาศแวดล้อม ประกอบในการนำเสนอผลงานการออกแบบ เพื่อให้ผู้รับฟังมองเห็นแนวคิด และผลงานการออกแบบ เกิดความเข้าใจและคล้อยตาม
  4. การทำงานเป็นทีม
    มีการวางแผนในการทำงานอย่างมีระบบ โดยแบ่งงานตามความสามารถและความถนัดของแต่ละคน มีการระดมความคิด แลกเปลี่ยนและยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันภายในทีม โดยจุดมุ่งหมายหลักไม่ใช่แค่ทำงานที่ตนเองได้รับมอบหมายให้สำเร็จแต่อย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงผลงานในภาพรวมที่ทุกคนร่วมกันทำ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  5. ประสบการณ์ในการทำงาน
    แสวงหาประสบการณ์ด้านการจัดแสดงและนิทรรศการ การศึกษาดูงาน การเข้าร่วมสัมมนากับสถานประกอบการหรือนักออกแบบผู้มีประสบการณ์ การเข้าไปฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ โดยมีนักออกแบบมืออาชีพคอยแนะนำ
เอกสารอ้างอิง:
Thienthaworn, A. (2007). Event & exhibition design curriculum: course description. n.p.
---------------------.  (2007). Event & exhibition design curriculum: student competencies. n.p.