Monday 9 November 2009

กราฟิกสภาพแวดล้อม (Environmental Graphics)

คำอธิบายโดย  Akapan Thienthaworn

2072402  กราฟิกสำหรับสภาพแวดล้อม  3(2-2-5)
Environmental Graphic Design

เป็นการประยุกต์ใช้หลักการออกแบบกราฟิกสำหรับพื้นที่สภาพแวดล้อมภายในและภายนอก การใช้องค์ประกอบการออกแบบกราฟิก การกำหนดตำแหน่งและทิศทาง การตกแต่ง การใช้วัสดุ ขั้นตอนการติดตั้งและเทคนิคการผลิต รวมทั้งฝึกปฏิบัติการแก้ปัญหาโดยการออกแบบตราสัญลักษณ์ การใช้ตัวอักษร และระบบป้ายสัญลักษณ์

Study the application of graphic design principles in both interior and exterior space. Students are introduced to the elements of graphic design, position and direction, decorating, using various materials, installation process and production techniques. Learning activities include problem-solving by designing a logo, typography and signage system. (Thienthaworn, 2007, p. 56)

ในการทำงานออกแบบกราฟิกสภาพแวดล้อมนั้น มีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก รวมถึงมีปัญหาที่หลากหลายและละเอียดอ่อน ซึ่งต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ในการออกแบบด้านอื่นๆร่วมด้วย ซึ่งการออกแบบกราฟิกสภาพแวดล้อม เป็นสาขาวิชาที่มีการบูรณาการณ์ของศาสตร์ด้านการออกแบบสาขาต่างๆ ประกอบไปด้วย การออกแบบกราฟิก สถาปัตยกรรม รวมถึงการออกแบบตกแต่งภายใน และการออกแบบอุตสาหกรรม ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีหลักสูตรหรือสาขาวิชาใดที่มีการศึกษาด้านนี้โดยตรง แม้ว่าจะมีรายวิชาที่มีการศึกษาด้านนี้ หรืออาจจะเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของรายวิชาอย่างเช่นการออกแบบเอกลักษณ์องค์กร

จากเหตุผลที่ว่าในปัจจุบันยังมีหลักสูตรการศึกษาด้านการออกแบบกราฟิกสภาพแวดล้อมอยู่จำนวนน้อย และเป็นสาขาวิชาที่จำเป็นต้องใช้ความรู้ในศาสตร์หลายแขนง ดังนั้นผู้ที่กำลังศึกษาในด้านนี้หรือนักออกแบบในสาขาวิชาอื่นจำเป็นต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง ยกตัวอย่างเช่น นักออกแบบกราฟิกจำเป็นต้องเรียนรู้ในเรื่องของวัสดุและรูปทรงสามมิติ การกำหนดขนาด การอ่านแบบ รวมทั้งการเขียนแบบเบื้องต้น ในส่วนของสถาปนิก นักออกแบบตกแต่งภายใน หรือนักออกแบบอุตสาหกรรมนั้นจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการและเทคนิคการสื่อสารด้วยกราฟิก หลักการออกแบบสองมิติ รวมทั้งเทคนิคและวิธีการใช้โปรแกรมกราฟิกด้วย (Thienthaworn, 2009, pp. 16-17)

โดยในสถานการณ์ของโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการสื่อสารที่ไร้ขีดจำกัด ที่จะส่งอิทธิพลต่อนักออกแบบรุ่นใหม่ให้ต้องปรับรูปแบบการทำงานให้ทันต่อยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อความอยู่รอดในสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเศรษฐกิจและธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งในการเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 นี้อาจจะกลายเป็นยุคเฟื่องฟูของการออกแบบกราฟิกสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยบริษัทออกแบบที่มีศักยภาพหลายแห่งเปิดตัวขึ้นใหม่ในแต่ละปี ซึ่งอาจจะมากกว่าจำนวนโครงการออกแบบที่มีอยู่ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าการทำงานในสาขาวิชานี้จะมีการแข่งขันกันสูง

แต่ละบริษัทออกแบบจะต้องสร้างผลงานให้โดดเด่นกว่าคู่แข่งด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา นักออกแบบก็จะต้องคอยดูแลเอาใจใส่ลูกค้าให้มากขึ้น หัวหน้างานก็จะต้องมีข้อเสนอที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดและรักษาทีมงานที่มีประสิทธิภาพไว้ แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการทำงานที่เกิดขึ้นในสาขาวิชาชีพนี้ ซึ่งเป็นวิชาชีพที่มีความหลากหลายโดยจะเหมาะกับผู้ที่มีความคิดและมุมมองที่สร้างสรรค์ แสวงหาความรู้และประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ รวมทั้งจะต้องมีความสามารถในการติดต่อสื่อสารด้วย (Gibson, 2009, p. 16)

United Buddy Bears Exhibition, Roppongi Hills, Tokyo, Japan.

เอกสารอ้างอิง:
Gibson, D. (2009). The wayfinding handbook: information design for public places. New York : Princeton Architectural.
Thienthaworn, A. (2009). Environmental graphic design. n.p.
---------------------. (2007). Event & exhibition design curriculum: course description. n.p.

No comments: